“พันตำรวจโทพจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการพัฒนาวิชาชีพ การเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ และการรับนักศึกษา

          พันตำรวจโทพจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิรา (www.isranews.org) ถึงการพัฒนาวิชาชีพ  หลังเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 3 เดือน ว่า เรื่องที่จะขับเคลื่อนมีอยู่หลายเรื่อง ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ คือการคัดค้านร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเครื่องกำเนิดรังสีที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบและเพื่อใช้งานในสถานพยาบาล

“เราต่อสู้จนบทลงโทษมีการปรับจางหายไปแล้ว ตอนนี้เหลืออย่างเดียวเรื่องการควบคุม โดยยังมีความเห็นที่ต่างกันมาก ทางเรายึดหลักวิชาการเป็นหลัก และยึดหลักสากลเป็นหลัก ซึ่งทันตแพย์สภาเสนอให้ร่างกฎกระทรวงประกอบพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อสันติในส่วนข้อบังคับด้านความปลอดภัย ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางรังสีที่แต่ละสภาวิชาชีพกำหนด ตาม IAEA และสากลประเทศ เนื่องจากการใช้งานเครื่องเอ็กซเรย์ในแต่ละสาขาวิชาชีพนั้นมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน”

สำหรับภารกิจด้านการศึกษา โดยเฉพาะประเด็นการรับนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ ของคณะทันตแพทย์ที่เปิดขึ้นใหม่ในหลายมหาวิทยาลัย พันตำรวจโทพจนารถ กล่าวว่า จำเป็นต้องศึกษาพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา 2562 ให้ชัดเจน และหาทางคุยในหลายๆ จุดให้กระจ่าง ทั้งเรื่องการเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นของมหาวิทยาลัยรัฐ หรือของเอกชน การประเมินเพื่อเห็นชอบและรับรองหลักสูตร ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม 2537

นายกทันตแพทยสภา ชี้ว่า หมวด  7 ในพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา 2562   พูดถึงการควบคุมและกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมาตรา 56 ระบุ  ในการตรวจสอบหรือพิจารณาหลักสูตรของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ตามมาตรา 55  ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา  มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา

ในกรณีที่ปรากฏว่าสถาบันอุดมศึกษาไม่จัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาที่ได้แจ้งตาม มาตรา  55 ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด  หากสถาบันอุดมศึกษาไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร  ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้สถาบันอุดมศึกษาหยุดการดำเนินการหรือดำเนินการอื่นใดอันจำเป็นต่อไป

ในกรณีที่เห็นสมควรจะสั่งไม่รับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาของหลักสูตรการศึกษาก็ได้  แต่การไม่รับรองมาตรฐานดังกล่าวไม่กระทบผู้สำเร็จการศึกษาไปก่อนแล้ว

การไม่รับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาตามวรรคสอง  ให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

 มาตรา 60  ในกรณีที่ผลการตรวจสอบตามมาตรา  56  ปรากฏว่าการจัดการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาใดในสถาบันอุดมศึกษาเป็นไปตามที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา  55  ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาประกาศรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาในหลักสูตรการศึกษาดังกล่าว  ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่ผู้เรียนรุ่นแรกจะสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรการศึกษานั้น

พันตำรวจโทพจนารถ เชื่อว่า คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาจะไม่ดองเรื่องยาวนานไปถึง 6 ปี  และก่อนไปถึงการไม่รับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาของหลักสูตรการศึกษา จะมีขั้นตอนให้สถาบันการศึกษาพยายามแก้ไข ปรับปรุง

เมื่อถามว่า หากมีสถาบันการศึกษาจะเปิดคณะทันตแพทย์ต้องทำอย่างไร ภายใต้พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา 2562  นายกทันตแพทยสภ  อธิบายว่า แต่เดิมสถาบันการศึกษาที่จะเปิดหลักสูตร ต้องส่งสภาวิชาชีพให้ตรวจก่อน จากนั้นก็ส่งคณะกรรมการไปตรวจที่สถาบันการศึกษา  

แต่เมื่อพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา 2562  ออกมาก็ถือเป็นการปลดล็อก หลักสูตรที่จะเปิดใหม่

1.ต้องให้สภาสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ อนุมัติก่อน เป็นการภายในเอง ตามมาตรา 54

มาตรา 54  ระบุว่า หลักสูตรการศึกษาที่สภาสถาบันอุดมศึกษาจะอนุมัติเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนได้  จะต้องเป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานการอุดมศึกษาที่รัฐมนตรีกำหนดโดยข้อเสนอแนะและความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา

มาตรา 55  เมื่อสภาสถาบันอุดมศึกษาอนุมัติหลักสูตรการศึกษาตามมาตรา  54  และได้แจ้งหลักสูตรการศึกษาดังกล่าวต่อสำนักงานปลัดกระทรวงแล้ว  จึงจะเปิดสอนตามหลักสูตรการศึกษาดังกล่าวได้

ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาที่จะต้องตรวจสอบหลักสูตรการศึกษาที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งว่าเป็นไปตามมาตรฐานตามมาตรา  54 หรือไม่  ในกรณีที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน  ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด  และในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหาย  คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาจะสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาระงับการดำเนินการตามหลักสูตรการศึกษานั้นไว้ก่อนก็ได้

ประเด็นการสอบใบประกอบวิชาชีพ (licence) ผ่านไม่ผ่านของสถาบันการศึกษาเอกชน นั้น  พันตำรวจโทพจนารถ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบ

“ผ่านไม่ผ่าน licence  คือตัวชี้วัดในการอนุมัติหลักสูตรต่อไปในอนาคต มหาวิทยาลัยเอกชนก็จะส่งเด็กที่คิดว่า เก่งเข้ามาสอบ บางครั้งส่งมา 4 คน จาก 50 คน ที่เหลือให้สอบอีกงวดหนึ่ง เพื่อไม่ให้นำคะแนนมารวมตรงนี้ หากสอบผ่าน 4 คน แปลว่า ได้ 100% กฎหมายก็ไม่ได้บอกว่า คุณทำแบบนี้ผิด ส่วนมหาวิทยารัฐถูกผูกว่า รับนักศึกษาเข้ามาเท่าไหร่ ต้องส่งไปใช้ทุน “

พันตำรวจโทพจนารถ ยอมรับว่า ปัญหาเด็กที่ค้างสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน เริ่มเป็นปัญหาใหญ่  ดังนั้น ยุคนี้จะมีการเปิดเผยข้อมูล สถาบันการศึกษาที่เปิดคณะทันตกรรม มีผู้สอบใบประกอบวิชาชีพผ่านไม่ผ่าน  สัดส่วนเท่าใดบ้าง เพื่อให้ผู้ปกครองพิจารณา เป็นการคุ้มครองทั้งผู้ปกครองและผู้เรียนไปในตัว ซึ่งจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการทันตแพทย เร็วๆ นี้

สุดท้าย พันตำรวจโทพจนารถ แสดงความเป็นห่วงมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพ สำหรับผู้ที่ทำงานในช่องปาก นอกจากทันตแพทย์หลักๆ แล้ว ยังมีทีมทันตสาธารณสุข ประกอบด้วย ทันตแพทย พยาบาลทันตกรรม (ทันตาภิบาล) และผู้ช่วยทันตแพทย และนักเทคนิคห้องปฏิบัติการ ในต่างประเทศจะควบคุมอย่างนัก เพราะเป็นสาขาที่มีผลต่อการรักษาคนไข้ แต่บ้านเราทำได้ไม่ครบ ส่งเสริมทันตแพทย์อย่างเดียว ขณะที่ทันตาภิบาล ปัจจุบันมีเปิดสอนอยู่ 7 แห่ง เรียนหนักเรื่องการป้องกัน และให้คำแนะนำคนไข้  การบำบัดรักษาทางทันตกรรมพื้นฐานในสถานบริการสาธารณสุขระดับท้องถิ่น ดังนั้น ทันตาภิบาล จะไม่สามารถขูดหินปูน หรือถอนฟันกรณียาก ๆ ได้ แต่เมื่อไปงานในพื้นที่จริงถูกใช้ให้ไปทำฟัน  ขูดหินปูน

“การเรียนการสอบทันตภิบาลพยายามเปิดเป็นปริญญาตรี ฉะนั้นก็ต้องเข้าไปในร่มเงาของคณะกรรมการอุดมศึกษา ปัญหาท่อนนี้ใหญ่มากที่สังคมไทยยังไม่ได้พูดถึง ”